โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ช่วยเหลือโรงพยาบาลหลักได้อย่างไร
9 กรกฎาคม 2564

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปัจจุบัน จำนวนตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลต่อความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ ในการดูแลผู้ป่วยทุกคนอย่างทั่วถึง จึงเกิดแนวคิดเรื่องโรงพยาบาลสนามและ Hospitel เพื่อช่วยลดความหนาแน่นของผู้ป่วยภายในโรงพยาบาล สงวนเตียงไว้สำหรับผู้ที่ต้องการและอยู่ในขั้นอันตรายจริง ๆ
 


ตัวอย่าง Hospitel
ที่มา : Thai Hotel Association pushes “hospitels” – hotels as hospitals - thethaiger.com
 
ขอเริ่มด้วยความหมายของคำว่า Hospitel ที่หากมองตรงตัวก็คือโรงแรมที่ผันตัวมาเป็นโรงพยาบาล แต่หากมองลงไปลึกกว่านั้น Hospitel คือการที่โรงพยาบาลเข้าไปเช่าสถานที่จากโรงแรม จากนั้นควบคุมดูแลจัดการ บริหารพื้นที่ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงบุคลากรเจ้าหน้าที่ทั้งหมดนั้นเป็นของโรงพยาบาล หมายความว่าโรงแรมมีบทบาทเป็นเพียงผู้ให้เช่าสถานที่เท่านั้น โดยผู้ป่วยที่อยู่ในสถานะสีเขียวคือมีอาการน้อยหรือแทบไม่มีอาการเลยและสามารถดูแลตนเองได้ เพราะต้องวัดอุณหภูมิตนเองได้ รายงานอาการตนเองได้ สามารถแจ้งความประสงค์เข้าพักใน Hospitel เพื่อความสะดวกสบายและความเป็นส่วนตัว โดยจะได้รับการตรวจทุกวันเพื่อเฝ้าระวังและประเมินอาการ เมื่อครบกำหนดวันและตรวจไม่พบเชื้อแล้วสามารถเดินทางกลับบ้านได้เลย แต่หากพบเชื้อหรือมีอาการแทรกซ้อน ก็สามารถส่งตัวกลับเข้าโรงพยาบาลต้นทางได้ทันที

ในเรื่องของมาตรฐานการเปลี่ยนโรงแรมเป็น Hospitel นั้น มีขั้นตอนและข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง เช่น โรงแรมควรมีระบบปรับอากาศแบบแยกส่วน (Split Type) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ โดยขณะมีการตรวจหรือทำหัตถการ ควรปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อลดการฟุ้งกระจาย โดยในห้องพักต้องสามารถระบายอากาศได้ดี ไม่ควรปูพื้นด้วยพรม บุคลากรที่ปฏิบัติงานจะสวมใส่ชุดป้องกันแบบเต็มรูปแบบตลอดการทำงาน ก่อนการเข้า-ออก อาคารบุคลากรจะผ่านห้องฆ่าเชื้อ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า และต้องอาบน้ำทุกครั้งเมื่อเสร็จภารกิจ เพื่อป้องกันการนำเชื้อออกนอกพื้นที่ Hospitel

ตัวอย่าง Hospitel
ที่มา : รายชื่อ Hospitel รองรับผู้ป่วยโควิด 19 มีที่ไหนบ้าง เช็กเลย - kapook.com
 
หากถามว่า Hospitel กับ โรงพยาบาลสนามต่างกันอย่างไร คำตอบคือ ไม่ต่างกัน ทั้งสองที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยในการเข้าใช้บริการ และควรเป็นผู้ป่วยสีเขียว คือมีอาการน้อยหรือแทบไม่มีอาการ โดยมีจุดประสงค์หลักเดียวกัน คือ เพื่อลดความแออัดภายในโรงพยาบาล และให้โรงพยาบาลมีพื้นที่ในการรักษาผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง หรือโรคอื่นที่ร้ายแรง อย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ
 
 
 
โรงพยาบาลสนามบุษราคัม
ที่มา : เปลี่ยนอาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี เป็นโรงพยาบาลสนามบุษราคัม รักษาผู้ป่วยโควิด-19 นายกฯ ให้กำลังใจภาคสนาม – THE STANDARD

สถานที่เพื่อการดูแลผู้ป่วยจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่อีกประเภทหนึ่ง คือ โรงพยาบาลสนาม ที่มักดัดแปลงมาจาก สนามกีฬา ศูนย์แสดงสินค้า พื้นที่ว่าง มหาวิทยาลัย หรือค่ายทหาร มีมาตรฐานและขั้นตอนการออกแบบภายใต้กรมสนับสนุนบริการการสุขภาพ กองแบบแผน กระทรวงสาธารณสุขเพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละหน่วยงานผู้รับผิดชอบนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละสถานที่ โดยทุกที่ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ก่อนเปิดใช้งาน



การติดแผงกั้นพื้นที่ผู้ป่วย ขนาด 3.00x2.00 เมตร ตามขนาดมาตรฐานของแผ่นกั้น โรงพยาบาลสนามบุษราคัม
ที่มา : คุณประกาศิต สมณะช้างเผือก สถาปนิก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

ขั้นตอนต่าง ๆ ของมาตรฐานของโรงพยาบาลสนาม เช่น ระยะห่างระหว่างเตียงไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร อาจพิจารณามีที่กั้นเพื่อความเป็นส่วนตัว (ไม่มีผลต่อการแพร่กระจายของเชื้อ) ระยะห่างระหว่างทางเดินอย่างน้อย 2.00 เมตร ในส่วนของห้องน้ำและห้องอาบน้ำ ควรยกพื้นและเดินงานระบบแบบลอยทั้งหมด เพื่อให้สามารถตรวจสอบและซ่อมแซมแก้ปัญหาได้ง่าย มีระบบฆ่าเชื้อที่พื้นและผนังเพื่อลดการปนเปื้อน และมีการดูแลฆ่าเชื้อในระบบบำบัดน้ำเสียเป็นพิเศษ โดยมีสัดส่วนห้องน้ำต่อเตียง 1:20
 


การติดตั้งห้องอาบน้ำ โดยเดินงานระบบลอยทั้งหมด เพื่อง่ายต่อการดูแลรักษา โรงพยาบาลสนามบุษราคัม
ที่มา : คุณประกาศิต สมณะช้างเผือก สถาปนิก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ



การติดตั้งห้องแยกสำหรับผู้ที่ต้องการออกซิเจนช่วยหายใจ โรงพยาบาลสนามบุษราคัม
ที่มา : คุณประกาศิต สมณะช้างเผือก สถาปนิก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ



พื้นที่เพื่อการพักผ่อนใน โรงพยาบาลสนามบุษราคัม
ที่มา : คุณประกาศิต สมณะช้างเผือก สถาปนิก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
 

แผนผังการแบ่งแยกพื้นที่ ในโรงพยาบาลสนามบุษราคัม สีเหลือง พื้นที่กักกันผู้ป่วยติดเชื้ออาการไม่รุนแรง (Contaminated Zone) สีเขียว พื้นที่ทำงานสะอาดของเจ้าหน้าที่ (Clean Zone) และ สีแดง พื้นที่สำหรับงานระบบและสิ่งอำนวยความสะดวก (Service Zone)
ที่มา : คุณประกาศิต สมณะช้างเผือก สถาปนิก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ



พื้นที่ฆ่าเชื้อ (Buffer zone) สำหรับเจ้าหน้าที่ ทุกครั้งเมื่อต้องเข้า-ออกพื้นที่ เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่สีเขียวกับพื้นที่สีเหลือง
ที่มา : คุณประกาศิต สมณะช้างเผือก สถาปนิก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
 
ในส่วนของการจัดการพื้นที่ของโรงพยาบาลสนาม ต้องมีการแบ่งอาณาเขตที่ชัดเจนระหว่างพื้นที่กักกันผู้ป่วยติดเชื้ออาการไม่รุนแรง (Contaminated Zone) พื้นที่ทำงานสะอาดของเจ้าหน้าที่ (Clean Zone) และพื้นที่สำหรับงานระบบและสิ่งอำนวยความสะดวก (Service Zone) กรณีไม่มีอาคารแยกสำหรับบุคลากร ควรพิจารณามีตู้คอนเทนเนอร์แยกเพื่อความปลอดภัย โดยระหว่างพื้นที่ผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่ควรมี Buffer Zone เพื่อเพิ่มความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง และการสัญจรภายในของเจ้าหน้าที่ต้องเป็นทางเดียว ห้ามย้อนกลับ (เข้าทางหนึ่งต้องออกอีกทางหนึ่ง) ที่สำคัญต้องมีพื้นที่ช่วยฉุกเฉินอยู่ในแต่ละโซน และต้องมีรถพยาบาลเตรียมพร้อมส่งผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลต้นสังกัดตลอดเวลา


การออกแบบพื้นที่ของโรงพยาบาลสนามบางบ่อ-บางใหญ่
ที่มา : คุณประกาศิต สมณะช้างเผือก สถาปนิก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ


ผังบริเวณโซนทำงานเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสนามบางบ่อ-บางใหญ่
ที่มา : คุณประกาศิต สมณะช้างเผือก สถาปนิก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ





 แผนภาพแสดงการสัญจรของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยที่แยกกันชัดเจน ภายในศูนย์แรกรับและส่งต่อกระทรวงสาธารณสุข อาคารนิมิบุตร
ที่มา : คุณประกาศิต สมณะช้างเผือก สถาปนิก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ


พื้นที่ควบคุมการดำเนินงานและความปลอดภัย โรงพยาบาลสนามบุษราคัม
ที่มา : คุณประกาศิต สมณะช้างเผือก สถาปนิก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

การบริหารจัดการภายในโรงพยาบาลสนามจะพยายามลดการเผชิญหน้ากันให้ได้มากที่สุด เช่นการตรวจสอบอาการและรายงานผลผ่านช่องทางออนไลน์ บุคลากรเฝ้าดูอาการและความปลอดภัยผ่านกล้อง CCTV การนำอาหารเข้ามาวางในจุดที่กำหนดและจะนัดผู้ป่วยมารับอาหารคนละเวลา โดยผู้ป่วยจะมีการผลัดเวรกันมาทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม และการดูแลรักษาความสะอาดรวมถึงขยะติดเชื้อก็จะมีเวลาการจัดเก็บที่ชัดเจน เพื่อความปลอดภัยของทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการต่าง ๆ ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่ออธิบายให้เข้าใจถึงแนวทางและขั้นตอนการปฏิบัติ ซึ่งก่อนที่จะมีโรงพยาบาลสนามนั้น ทางกรมก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานของหลาย ๆ โรงพยาบาลในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งการสร้างห้องแยกโรคความดันลบ ในห้องฉุกเฉิน ห้อง ICU ห้องทันตกรรม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด 19 หรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงแผนเพื่อปรับเปลี่ยนมาตรฐานการออกแบบโรงพยาบาล เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ร้ายแรงอื่น ๆ ในอนาคต
 
ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล :
คณะทำงาน ศูนย์แรกรับและส่งต่อ กระทรวงสาธารณสุข อาคารนิมิบุตร
สถาปนิก นายกฤษฏ์ อยู่คง นายประกาศิต สมณะช้างเผือก
คณะทำงาน โรงพยาบาลสนาม บุษราคัม
สถาปนิก นายชาติศักรินทร์ พาหุกุล นายธนเศรษฐ์ ร่วมชาติ
ผู้ให้สัมภาษณ์ นายกฤษฏ์ อยู่คง นายธีระวัฒน์ ทรมีฤทธิ์ นายประกาศิต สมณะช้างเผือก
และภาพจากเว็บไซต์ : Thethaiger / The Standard /  Kapook