เรื่องเล่าอาคารสืบสานฯ รพก.วัดจันทร์ พื้นที่สะท้อนวัฒนธรรมและวิถีชุมชนในสถานบริบาล
30 ตุลาคม 2564
เรื่องเล่าอาคารสืบสานฯ รพก.วัดจันทร์ พื้นที่สะท้อนวัฒนธรรมและวิถีชุมชนในสถานบริบาล


พื้นที่โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ท่ามกลางธรรมชาติบนขุนเขา ในเขตอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่
 
เป็นระยะเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่อาคารสืบสานพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร' ณ โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ บรรลุวัตถุประสงค์หลักในการเป็นพื้นที่พักคอยแก่ผู้มาใช้บริการภายในโรงพยาบาล พร้อมทั้งเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมและเป็นศูนย์การเรียนรู้แก่คนในชุมชนไปพร้อมๆ กัน

อาคารสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ปัจจุบันสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานให้แก่ผู้มาใช้บริการในโรงพยาบาล

สำหรับอาคารสืบสานฯ เป็นหนึ่งในผลผลิตจากการดำเนินงานภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา สนับสนุนโดยสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จำนวน 10 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะภายในโรงพยาบาล พร้อมทั้งก่อสร้างอาคารสืบสานฯ ที่เชื่อมโยงบริบททางวัฒนธรรมและเสน่ห์ของชุมชนแต่ละแห่ง ก่อเกิด “พื้นที่อเนกประสงค์”รองรับการใช้งานของผู้คนได้ครบในทุกมิติ
 
กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะเป็นผู้รับผิดชอบหลักร่วมกับภาคีเครือข่ายสถาปนิก โดยภาคีที่รับผิดชอบออกแบบอาคารสืบสานฯ และสิ่งแวดล้อมภายใน รพก.วัดจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ คือใจบ้านสตูดิโอ สถาปนิกชุมชน ผู้ที่เข้าใจบริบทของพื้นที่นี้ได้เป็นอย่างดี
 
ณ บ้านจันทร์ อําเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ที่ตั้งของโรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาแห่งนี้ คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวเขาชนเผ่าต่างๆ ซึ่งมีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม ทั้งพี่น้องชาวปกาเกอญอ ม้ง และลีซู ซึ่งมีความเชื่อว่าจิตวิญญาณของผู้คนนั้นเชื่อมโยงกับธรรมชาติโดยเฉพาะชาวปกาเกอะญอ ผู้ที่เติบโตมาจากรากฐานของวัฒนธรรมอันโดดเด่น เชื่อมั่นในจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงไปกับธรรมชาติ ดังนั้นจำนวนผู้ที่ใช้บริการใน รพก.วัดจันทร์ จึงเป็นชาวเขาชนเผ่ากว่า 90%

การมีส่วนร่วมในการพัฒนาอาคารสืบสานฯ โดยภาคีสถาปนิก ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์และผู้คนในชุมชน มาแลกเปลี่ยน เสนอความคิดเห็นเพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ในโน รพก.วัดจันทร์ (*รูปนี้ถ่ายก่อนสถานการณ์ Covid-19 แพร่ระบาด)

ช่วงที่ดำเนินโครงการ ทีมสถาปนิกใจบ้าน ได้ลงพื้นที่ไปยัง รกพ.วัดจันทร์ โดยได้เข้าไปเรียนรู้ ทำความเข้าใจวิถีของชุมชน เพื่อให้เห็นภาพวิถีฒนธรรมของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรมพื้นถิ่น พร้อมทั้งจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล ผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ซึ่งเป็นผู้ใช้หลักผ่านกระบวนการพูดคุยกลุ่มย่อย เพื่อให้ได้มาซึ่งประเด็นหรือหัวใจของการออกแบบ ดังนั้นอาคารสืบสานฯ ที่ออกแบบมานี้ จึงเป็นผลผลิตที่มาจากความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
 
สำหรับการก่อสร้างอาคารสืบสานฯ แห่งนี้ ใช้วัสดุในท้องถิ่น ไม่ได้นำมาจากนอกพื้นที่ โดยชาวบ้านช่วยกันนำวัสดุต่างๆ มาสร้างเป็นอาคารหลังนี้ รวมถึงเทคนิคการก่อสร้างต่างๆ ก็ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม ก่อสร้างจนสำเร็จเสร็จสิ้นผ่านการร่วมมือร่วมใจกันของหลายๆ ฝ่าย ท้ายที่สุดแล้วจึงสะท้อนว่านี่คือโรงพยาบาลของคนในชุมชน
 
[อาคารสืบสานฯ พื้นที่กิจกรรมของคนในชุมชน]


นพ.ประจินต์ เหล่าเที่ยง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา

กลุ่มวิจัยฯ ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณหมอประจินต์ เหล่าเที่ยง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เกี่ยวกับการใช้งานอาคารสืบสานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีนั้นได้วางแผนให้อาคารสืบสานฯ แห่งนี้ เป็นพื้นที่พักคอยของญาติผู้ป่วย สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากแปลงผักที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อนำไปประกอบอาหารได้ ส่วนตัวอาคารยังรองรับการทำกิจกรรมของโรงพยาบาลได้ตามโอกาส อาทิเช่น งานทำบุญ งานพิธีการสำคัญต่างๆ เป็นต้น


อาคารสืบสานฯ ถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นร้องเพลง เล่นดนตรีพื้นบ้าน รวมไปถึงวางแผนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของเด็กๆ ด้วย โดยการออกแบบพื้นที่ภายในอาคารฯ ได้ผสานอัตลักษณ์ของวิถีชุมชนวัดจันทร์ คือวัฒนธรรมเตาไฟ (ข่วง) ซึ่งเป็นหัวใจของการดำรงชีวิตการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ (*รูปนี้ถ่ายก่อนสถานการณ์ Covid-19 แพร่ระบาด)


แปลงผักในพื้นที่โรงพยาบาล เปิดให้ผู้มาใช้บริการสามารถเก็บเกี่ยว เพื่อนำไปประกอบอาหารได้

นอกจากนี้ยังวางแผนให้ตัวอาคารเป็นศูนย์เรียนรู้แก่เด็กๆ ในชุมชนอีกด้วย ยกตัวอย่างกิจกรรม เช่น เรียนรู้ดนตรีพื้นบ้าน โดยจะมีหาอาสาสมัครมาสอนดนตรีให้แก่เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นพิณกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของที่นี่ รวมไปถึงเครื่องดนตรีสากลอย่างกีตาร์ พร้อมมีคลาสสอนศิลปะ พวกงานปั้น
 
หรือจะเป็นกิจกรรมเรียนรู้ภาษากะเหรี่ยง ผ่านการสอนตัวอักษรดั้งเดิมและแฝงไปด้วยหลักคำสอน ปรัชญาการใช้ชีวิตตามแบบฉบับของชนเผ่า ซึ่งปัจจุบันไม่มีสอนในหลักสูตรตามโรงเรียนทั่วไป แต่เด็กๆ สามารถมาเรียนรู้ได้ที่นี่ ทางโรงพยาบาลตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมแขนงนี้ จึงได้วางแผนจัดกิจกรรมผ่านการใช้พื้นที่อาคารสืบสานฯ ตามวาระที่เหมาะสม
 
จะเห็นว่ากิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เกี่ยวข้องไปกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนในพื้นที่ที่พันธ์ผูกไปกับโรงพยาบาล แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ที่อาจมองว่าโรงพยาบาลคือสถานที่รักษาโรคเท่านั้น แต่สำหรับที่ รพก.วัดจันทร์ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสถานบริบาลและคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
 
[เมื่อโรคระบาดมาเยือน อาคารสืบสานฯ ก็ยังพร้อมใช้งาน]
 
ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดอย่าง Covid-19 ในช่วงต้นปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งการระบาดแพร่กระจายไปในทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าจะจากชุมชนเมืองจนไปถึงชุมชนชนบทห่างไกล Covid-19 ก็มาเยือนอย่างเลี่ยงไม่ได้
 
คุณหมอประจินต์ได้เล่าให้เราฟังว่า การใช้งานพื้นที่อาคารสืบสานที่ผ่านมา ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพียงการเป็นพื้นที่พักคอยญาติและผู้ป่วยที่มารักษาโรคในภาวะปกติทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรองรับการใช้งานในภาวะวิกฤติอย่างช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ด้วย

อาคารสืบสานฯ ใช้งานเป็นพื้นที่พักคอยสำหรับผู้มาฉีดวัคซีนและญาติผู้ป่วย ในช่วงสถานการณ์ Covid-19
 
ภารกิจของโรงพยาบาลชุมชนที่ต้องรับบทบาทเป็นด่านหน้า คอยดูแลรักษาและป้องกันโรคไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด สิ่งสำคัญหนึ่งนั้นคือจัดสรรพื้นที่สำหรับผู้มาใช้บริการ ทั้งมารับการรักษาและรับวัคซีนป้องกันโรค ดังนั้นจึงมีการปรับการใช้งานอาคารสืบสานฯ ใช้รองรับผู้มาใช้บริการได้อย่างทั่วถึงและปลอดภัย ด้วยการจัดพื้นที่ให้อากาศถ่ายเทสะดวก เว้นระยะห่างเพื่อให้สามารถพักคอยได้โดยไม่เสี่ยงติดเชื้อ
 
“ปัจจุบันทางโรงพยาบาลมีการฉีดวัคซีน 3 วันต่อสัปดาห์ โดยฉีดมาได้ราวๆ 3 เดือนแล้ว มีการใช้พื้นที่ของอาคารสืบสานเป็นส่วนพักคอยของคนที่มารอฉีดวัคซีน ก่อนจะ Flow ไปยังห้องฉีด ซึ่งผู้มาใช้บริการนั้นก็มีหลากหลาย ทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ เนื่องจากที่ตั้งโรงพยาบาลอยู่ใกล้เขตรอยต่อ เรารองรับผู้ป่วยแบบ Walk-in สามารถมาลงทะเบียนฉีดวัคซีนหน้างานได้เลย วิธีนี้สะดวกและเหมาะสมกับคนในพื้นที่มากกว่าวิธีลงทะเบียนผ่านมือถือ เพราะชาวบ้านบางคนก็ทำผ่านออนไลน์ไม่เป็น”

อาคารสืบสานฯ ใช้งานเป็นพื้นที่พักคอยสำหรับผู้มาฉีดวัคซีนและญาติผู้ป่วย ในช่วงสถานการณ์ Covid-19
 
คุณหมอประจินต์ได้กล่าวถึงวิธีการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ย่อมมีบริบทที่แตกต่างกัน ควรมีอิสระในการบริหารจัดการตามความเหมาะสม แต่ขณะเดียวกันก็ได้ดำเนินการตามนโยบายของทางจังหวัดไปด้วย สิ่งสำคัญคือต้องเอื้อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายที่สุด พร้อมดูแลเชิงรุกไปพร้อมๆ กัน
 
วิธีเชิงรุกที่ทาง รพก.วัดจันทร์ได้เข้าไปดูแลประชาชน คือการลงพื้นที่ไปในหมู่บ้าน ให้บริการฉีดวัคซีนแก่ชาวบ้านในพื้นที่ด้วย เป็นการอำนวยความสะดวกให้บางชุมชนที่มีข้อจำกัด เดินทางมาโรงพยาบาลได้ยากลำบาก นอกจากนี้ยังมีการตรวจเชิงรุกให้แก่ในชุมชน เมื่อได้รับรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง รวมไปถึงคนที่เดินทางมาจากต่างถิ่น จะมีการลงพื้นที่ทันทีเพื่อตรวจหาเชื้อโดยทีมงานบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค วิธีดังกล่าวช่วยควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ลดปัญหาลุกลามในอนาคต
 
ส่วนฝั่งของชาวบ้านเองก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เรียกได้ว่าคนในชุมชนมีความตระหนักรู้ถึงเรื่องโรคระบาดและปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย ร่วมป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดที่อาจบานปลายได้ ดังนั้นเวลาที่โรงพยาบาลประกาศข้อมูลข่าวสารต่างๆ หรือลงพื้นที่ คนในชุมชนก็พร้อมให้ความร่วมมือเสมอ ไม่ว่าจะผ่านช่องทางออนไลน์หรือพบปะเจอหน้ากัน โดยคุณหมอได้บอกกับเราว่าทางโรงพยาบาลจะมีการออกรอบลงพื้นที่เป็นประจำ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้นำชุมชน ทำหน้าที่ส่งต่อข่าวสารหรือประสานงาน
 
[ดูแลชุมชนเสมอมาและตลอดไป วิถีความสัมพันธ์กลมกลืนหนึ่งเดียวของ รพก.วัดจันทร์ และชุมชน]
 
วิถีชีวิตของคนในชุมชนในละแวก รพก.วัดจันทร์ มีความผูกพันกับโรงพยาบาลอย่างมาก เห็นได้จากการวางแผนสรรค์สร้างกิจกรรมต่างๆ ในอาคารสืบสานฯ หวังเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน แม้ปัจจุบันกิจกรรมที่วางแผนไว้จะยังไม่ได้จัด ต้องเลื่อนออกไปด้วยปัญหาโรคระบาด แต่แนวคิดหลักของอาคารสืบสานฯ ก็ยังคงปณิธานไว้อย่างเหนี่ยวแน่น ใช้เพื่อคนในชุมชนได้อย่างแท้จริงแม้กระทั่งในวันที่เกิดวิกฤติเช่นนี้
 
ในอนาคตอันใกล้นี้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 คลี่คลายมากขึ้น เมื่อถึงเวลานั้นก็น่าจะเห็นอาคารสืบสานฯ รพก.วัดจันทร์เป็นศูนย์การเรียนรู้ในด้านต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาอาคารสืบสานฯ แห่งนี้ก็ได้ทำหน้าที่ของมันได้เป็นอย่างดีแล้ว คุณหมอประจินต์ยังบอกอีกว่าแผนในอนาคตอาจจะมีการออกแบบ ตกแต่งภูมิทัศน์โดยรอบเพิ่มเติม เพื่อสร้างความร่มรื่นสวยงาม เช่น ปลูกหญ้าและต้นไม้ เพิ่มแปลงผัก เป็นต้น
 
ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของสถาปนิกหรือนักออกแบบที่เชี่ยวชาญ ทำความเข้าใจความต้องการและบริบททางสังคมของที่นี่อย่างถ่องแท้ นำไปสู่การออกแบบสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างสุนทรียภาพให้เข้ากับบริบทแวดล้อมของโรงพยาบาลและชุมชน เช่นเดียวกับที่ภาคีสถาปนิกใจบ้านและกลุ่มวิจัยฯ ได้เป็นเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอาคารสืบสานฯ ร่วมกับคนในชุมชนไปแล้วก่อนหน้านี้