สุขภาวะและสภาพแวดล้อมต่อการเรียนรู้ของเด็ก
สุขภาวะและสภาพแวดล้อมต่อการเรียนรู้ของเด็ก
สุขภาวะที่ดี การเรียนรู้ และการเล่นของเด็ก สามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกัน โดยที่ในช่วงวัยเด็ก เป็นช่วงรากฐานของชีวิตที่สามารถส่งผลไปถึงตอนวัยผู้ใหญ่ได้ การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ผ่านการเล่น จึงเป็นวิธีที่จะทำให้เด็กสามารถทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ หรือสนใจ แล้วกลายเป็นการฝึกฝนในพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กได้ ซึ่งสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กมีความอยากรู้ อยากลองทำกิจกรรม มีความตั้งใจ หรือมีสมาธิ ได้เพิ่มมากขึ้น


01 ความสำคัญของพัฒนาการ กับ ‘สุขภาวะ’ ที่ดีของเด็ก
การเสริมสร้างทักษะของวัยเด็ก เป็นพื้นฐานความสามารถของผู้ใหญ่ โดย 6 ปีแรก จะเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับพัฒนาการของเด็ก เพราะเป็นช่วงที่สมองเด็กพัฒนามากที่สุดและเร็วที่สุด ส่วนช่วง 7-9 ปี การพัฒนา การของเด็กไม่เปลี่ยนแปลง ไปจากเดิมมากนัก มีพัฒนาการอย่างช้า ๆ และวัยเด็กตอนปลาย 10-12  ปี มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ทั้งร่างกาย การใช้เหตุผล การควบคุมอารณ์ที่ดีขึ้น เป็นต้น ซึ่งการสร้างสุขภาวะที่ดีของเด็กมาจาก การฝึกทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อเด็ก คือ ด้านสติปัญญา ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ และด้านสังคม จะทำให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น

02 การสร้างสุขภาวะที่ดีกับสภาพแวดล้อมต่อการเรียนรู้ของเด็ก
การสร้างความสุขผ่านการเล่น เป็นสิ่งสำคัญของการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับเด็กได้ จาก สสส. การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ผ่านสื่อ กิจกรรม และพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างการเรียนรู้ มีความสำคัญต่อการพัฒนาสุขภาวะที่ดีในทุกมิติของเด็กเล็ก ที่ช่วยสร้างภูมิดีให้กับเด็กปฐมวัย โดยการทำสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่ น่าเรียน สร้างพื้นที่กระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้ เช่น ทราย หญ้าคา ที่นำมาทำมุมทราย นำมาทำมุมคัดแยกขยะ สัตว์จำลองสวยๆ ให้เด็กสนใจอยากรู้ชื่อสัตว์ อยากเล่นน้ำ เป็นต้น
ส่วนงานวิจัยและนักการศึกษาจำนวนหนึ่งเห็นตรงกันว่า หน้าที่ของเด็กปฐมวัย คือ ‘การเล่นยังไม่ใช่การเรียน’ แต่มุ่งเน้น Play-based Learning หรือ กระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่น คือการผสานกันระหว่าง การสอน (teaching) และการเรียนรู้ (learning) ซึ่ง ‘เล่น’ ในที่นี้คือการเล่นอย่างอิสระ (free play) โดยให้เด็กๆ เป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมด้วยตนเอง และมีครูเป็นผู้ร่วมเล่น แทรกความรู้วิชาการผ่านการสนับสนุนจากครู มีตั้งคำถามผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
นอกจากนั้น จากพื้นฐานของการสร้างสภาพแวดล้อมต่อการเรียนรู้ของเด็ก ในระบบ K–12  ของอเมริกา ส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้มาจาก เทคโนโลยี ความปลอดภัย ความปลอดโปร่งภายในห้องเรียน การใช้พื้นที่อเนกประสงค์ในการทำกิจกรรมร่วมกัน หรือพื้นที่นอกอาคาร ที่จะช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และความเครียดที่ลดน้อยลง จึงทำให้สามารถช่วยกระตุ้นความอยากเล่น และอยากเรียนได้มากขึ้น

03 ‘โรงเรียน’ หรือ ‘บ้าน’ ก็สร้างสุขภาวะที่ดีได้
นอกจากสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสามารถส่งเสริมศักยภาพที่ดีของเด็กได้ สำหรับเด็กแล้ว โรงเรียนและบ้าน เป็นสถานที่ที่เด็กจะได้มีเวลาในการทำกิจกรรมมากที่สุด 
งานวิจัยของ HEAD  (Holistic Evidence and Design) ได้กล่าวว่า ห้องเรียนเป็นสถานที่สำคัญที่สุดในโรงเรียน เพราะเป็นสถานที่รวมความหลากหลายของเด็ก และเป็นที่เรียนรู้หลักในปัจจุบัน ซึ่งสภาพแวดล้อมห้องเรียนที่ได้รับการออกแบบ ภายใต้องค์ประกอบที่เหมาะสม สามารถพัฒนาการเรียนให้ดีขึ้นได้ ประมาณ 16% จาก แสงอาทิตย์ คุณภาพอากาศ อุณหภูมิ  หรือการกระตุ้นจากสี
ในวัยเด็ก การสร้างสภาพแวดล้อมในบ้านให้เอื้อต่อการเล่น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความสนุก  แต่ยังสามารถพัฒนาทักษะของเด็กได้  ซึ่ง ‘ช่วงอายุ’ และ ‘ความสนใจของเด็ก’ เป็นปัจจัยหลักในการสร้างสภาพแวดล้อมในบ้าน โดยเลือกสถานที่ในการทำกิจกรรมให้เหมาะสม เมื่อเด็กได้มีความสนใจในบางสิ่ง การเรียนรู้นั้นจะเกิดจากความชอบ จะสามารถทำให้เด็กมีสมาธิกับสิ่งนั้นได้นานมากขึ้น 

04 คุณภาพของพื้นที่และสภาพแวดล้อมต่อเด็ก 1
การออกแบบพื้นที่ในการเรียนรู้แบบทางเลือก นอกเหนือจากการเรียนห้อง เช่น การทำกิจกรรมการแจ้ง ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างความผ่อนคลายในกับเด็กๆผ่านการเล่นแล้ว การเปิดพื้นที่โล่งเป็นการเปิดประสบการณ์ที่เด็กจะสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น จากการทำกิจกรรม การเคลื่อนไหวของร่างกาย การหยิบจับสิ่งของ การสำรวจพื้นที่ธรรมชาติ การปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เพราะมีพื้นที่ในการพูดคุย วิ่งเล่นได้มากขึ้น แต่ด้วยเป็นพื้นที่โล่ง การทำกิจกรรมต่างๆจึงต้องมีการดูแลจากครู ผู้ปกครอง หรือสภาพแวดล้อมมากขึ้น เช่น การกำหนดขอบเขตของพืิ้นที่เล่น การแบ่งพื้นที่แต่ละส่วนในการทำกิจกรรม 

05 คุณภาพของพื้นที่และสภาพแวดล้อมต่อเด็ก 2
พื้นที่อเนกประสงค์ เป็นพื้นที่อิสระในการทำกิจกรรมต่างๆของตนเอง นอกเหนือจากกิจกรรมที่โรงเรียน หรือกิจกรรมที่ถูกกำหนดให้ทำ ซึ่งเป็นการสร้างทางเลือกในการคิดสร้างสรรค์การทำกิจกรรมที่หลากหลาย หรือสิ่งที่ตัวเองชอบ โดยพื้นที่ที่รองรับจึงต้องมีความปรับเปลี่ยน หรือมีความยืดหยุ่นต่อการใช้งานของเด็ก แต่ต้องมีการคำนึงถึงหลักพื้นฐานในการสร้างสภาพแวดล้อมต่อเด็กในการรับรู้สิ่งต่างๆ เช่น ความปลอดโปร่งทั้งแสง อากาศ อุณหภูมิ ความปลอดภัยในการทำกิจกรรม นอกจากนั้นการฝึกสมอง กระตุ้นความคิด จากการใช้สี รูปทรง วัสดุ ด้วยการสัมผัส ก็ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กได้

06 ตัวอย่างพื้นที่ที่ส่งเสริมสุขภาวะและการเรียนรู้ของเด็ก 1
‘Farming Kindergarten’ โรงเรียนอนุบาลนี้สร้างขึ้นสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน 500 คน ของโรงงานผลิตรองเท้าไต้หวัน ในเวียดนามเพื่อให้การศึกษาสำหรับลูก ของพนักงาน โดยการออกแบบของโรงเรียน มีการคลุมของอาคารด้วยหลังคาสีเขียวที่เป็นรูปวงแหวนสามวงที่ลากต่อกัน สร้างเป็นสนามเด็กเล่น 3 สนาม ที่มีความปลอดภัย ด้วยวิธีการออกแบบ มีลักษณะแบบ passive ถูกนำมาใช้ในอาคาร ในการใช้การระบายอากาศ หรือแสงจากธรรมชาติ พร้อมกับการทำเกษตรกรรมบนหลังคา โรงเรียนอนุบาลแห่งนี้จึง มีพื้นที่ในการเรียนรู้ทดลองที่ยั่งยืน ทั้งสำหรับเด็ก และสำหรับคนรุ่นต่อไป แนวคิดการสร้างของโรงเรียนนี้สามารถเป็นแบบจำลองในการสร้างสภาพแวดล้อมของการศึกษาของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆได้

07 ตัวอย่างพื้นที่ที่ส่งเสริมสุขภาวะและการเรียนรู้ของเด็ก 2
‘Village-in-the-Schoolyard’ เป็นสนามเด็กเล่นที่อยู่ในพื้นที่รอบอาคารของโรงเรียนในเดนมาร์ก ที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับ เด็กนักเรียนและคนในชุมชนที่มีอายุแตกต่างกัน ซึ่งได้คำนึงถึงสุขภาวะของเด็กเป็นหลัก จึงเกิดเป็นพื้นที่ที่ได้มาทำกิจกรรมบริเวณนี้ร่วมกัน ด้วยสีแดงของเครื่องเล่นแต่ละจุดมีความแตกต่างกัน กับสีของอาคาร ทำให้พื้นที่เหล่านี้มีความโดดเด่นขึ้นมา และเป็นการกระตุ้นการอยากทำกิจกรรมของเด็ก หรือเข้ามาเล่นในแต่ละจุดของพื้นที่นี้มากขึ้น ทำให้พื้นที่กลางแจ้งบริเวณนี้มีคุณภาพของพื้นที่ที่ดีขึ้น นอกจากจะเป็นห้องเรียนกลางแจ้งของเด็กๆแล้ว ยังเป็นพื้นที่รวมตัวในการทำกิจกรรมของคนในชุมชนได้ด้วย เช่น แต่ก่อนด้านหน้าโรงเรียนเป็นที่จอดรถ ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่เล่นกีฬาต่างๆ ซึ่งพื้นที่ของสนามเด็กเล่นแต่ละส่วนถูกเชื่อมเข้าด้วยกันจนเป็นเหมือนหมู่บ้านเล็กๆของเด็ก

08 ตัวอย่างพื้นที่ที่ส่งเสริมสุขภาวะและการเรียนรู้ของเด็ก 3
‘Children's Bicentennial Park’ เป็นพื้นที่สาธารณะที่สร้างขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 200 ปี ของชิลี ในปี 2012 และด้วยพื้นที่ในชิลีเอง ก็ยังไม่มีพื้นที่สำหรับการเดินพักผ่อนเป็นเวลานานๆ ได้ การปรับปรุงพื้นที่บริเวณเขาที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จึงเกิดขึ้นเป็นสนามเด็กเล่น และที่พักผ่อนของครอบครัวภายในเมือง โดยพื้นที่เล่นของเด็กๆ สามารถแบ่งออกได้หลายจุด สร้างทางเลือกในการทำกิจกรรม เช่น เป็นทั้งลานดูการแสดง เป็นบ้านต้นไม้ ลานน้ำพุ หรือสไลเดอร์ที่สร้างความสนุก ที่ถูกติดตั้งบริเวณตามความลาดของเขา โดยยังคำนึงถึงความปลอดภัยและความสนุกไปด้วยกัน ซึ่งทำให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะทางต่างๆ รวมไปถึงการเข้าสังคม และปฏิสัมพันธ์กัับเด็กคนอื่นๆ ภายในพื้นที่สาธารณะนี้อีกด้วย

แหล่งที่มา
1.สสส. – สุขภาวะที่ดีของวัยเด็ก
2.จากเว็บ noreesan.blogspot.com - พัฒนาการของช่วงวัย
3.จากเว็บ thepotential.org  - การเรียนรู้ผ่านการเล่น
4.จากเว็บ edutopia.org – สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้
5.จากเว็บ housemethod.com - สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่บ้าน
6.Archdaily – ตัวอย่างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้

เนื้อเรื่องและภาพประกอบโดย ธมณชนก เกตุราทร (fonkaew)
 #สสส #BEresearchunit #สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ