ห่างไกล....แต่ไม่ห่างกัน เรื่องเล่าจากพื้นที่โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ในสถานการณ์​ COVID 19
13 พฤษภาคม 2564
 

 
จากสถานการณ์ปัจจุบัน โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ทั้ง 10 แห่ง (ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อระดับต้น ในระดับโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก (F2) ขนาดเตียง 30 เตียง) ปรับตัวและดำเนินการจัดพื้นที่ในการรับมือกับ COVID-19 ในหลายรูปแบบ บางพื้นที่ต้องปรับพื้นที่ภายในโรงพยาบาลเพื่อเป็น Cohort ward ของจังหวัด แต่ส่วนใหญ่เป็นแบบในลักษณะชั่วคราว เราพูดคุยกับทางโรงพยาบาลทั้ง 10 แห่ง และได้ข้อมูลมาแบ่งปันดังนี้
 
1. พื้นที่และระบบคัดกรอง/เส้นทางการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โรงพยาบาลส่วนใหญ่จัดการออกแบบพื้นที่เตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยปกติและผู้ป่วย Covid-19 โดยมีพยาบาล IC (Infection Control-การควบคุมการติดเชื้อ) ดูแลและคัดกรองเบื้องต้น ที่พื้นที่คัดกรองด้านหน้า โดยแยกผู้ป่วยทั่วไปกับผู้ป่วยที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ มีหน่วยงานที่เข้ามาร่วมดำเนินการช่วยเหลือและตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ IC และมาตรฐานความปลอดภัยในแต่ละบริบทของพื้นที่เขตสุขภาพ
 
2. Pre-admission: One Stop Service ARI clinic มีการดำเนินการจัดตั้ง คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ(ARI Clinic) แบบเฉพาะหน้า ซึ่งทุกโรงพยาบาลต้องการให้เกิดพื้นที่ที่มีความถาวรมากกว่านี้ ส่วนใหญ่ตั้งเตนท์ชั่วคราวไว้ด้านนอกอาคาร เพื่อให้มีการถ่ายเทของอากาศที่ดี และได้รับแสงธรรมชาติ แต่มีข้อเสียคือ อากาศร้อนมากในเวลากลางวัน ทำให้การวัดอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วย มีความคลาดเคลื่อน บางโรงพยาบาลปรับเปลี่ยนอาคารบางส่วน เป็นคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ(ARI Clinic) แยกตัวออกมาจากอาคารผู้ป่วยนอกเดิม
 
3. โรงพยาบาลสนาม มีการดำเนินการตามบริบทพื้นที่แต่ละเขตสุขภาพ และตามจำนวนผู้ป่วย ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เนื่องจากจำนวนผู้ป่วย COVID 19 และจำนวนของผู้ป่วยที่ต้องสอบสวนโรค (Patient Under Investigation : PUI) นั้นมีไม่มาก จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้น อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลส่วนใหญได้จัดเตรียม อาคารหอผู้ป่วยพิเศษ 16 เตียง ไว้รองรับเพื่อความพร้อม
 
4. การปรับปรุง Ward เป็น Cohort ward ชั่วคราวเพื่อรองรับผู้ป่วย Covid 19 ในโรงพยาบาลชุมชนบางโรงพยาบาลจะยังไม่สามารถรองรับและเตรียมเป็น Cohort ward ได้ ส่วนใหญ่จะดูแลเคสที่เป็นผู้ป่วยที่ต้องสอบสวนโรค (Patient Under Investigation : PUI) หรือรับดูแลคนไข้ต่อประมาณ 5-7 วัน หลังจากที่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลรับส่งต่อระดับกลาง หรือโรงพยาบาลแม่ข่าย (M2) ในจังหวัด ซึ่งคนไข้ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจแล้ว สามารถดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลมีการเตรียมการณ์โดยปรับพื้นที่อาคารเดิมในโรงพยาบาลให้เป็น Cohort ward และโยกย้ายเตียงผู้ป่วยสามัญ เพื่อรองรับผู้ป่วย COVID 19 ของจังหวัด เช่น รพก. เสาให้ บางโรงพยาบาลมีพื้นที่ที่สามารถปรับปรุงได้อยู่แล้ว เพราะมีการเตรียมความพร้อมเมื่อครั้งที่เกิดโรคระบาด SARS รวมถึงการขอแบบอาคารและงบประมาณสนับสนุนจากส่วนกลาง ซึ่งต้องใช้ทั้งเวลาและผ่านกระบวนการในหลายขั้นตอน
 
5. การปรับพื้นที่ OPD และอาคารอื่นๆชั่วคราวเพื่อรองรับกรณีโรคระบาด หรือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ทั้ง 10 แห่ง มีนโยบายในการเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์โรคระบาดโดย ลดปริมาณคนไข้ในแผนกผู้ป่วยนอก วางแผนการปรับปรุงพื้นที่แผนกผู้ป่วยนอก การจัดพื้นที่ One Stop Service ARI clinic แบบถาวร เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ได้หลากหลายมากขึ้นในอนาคต
ข้อมูลเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563




 
ทั้งนี้ เรามีสองตัวอย่างพื้นที่ ที่ได้ปรับใช้อาคารเดิมภายในโรงพยาบาลเพื่อรองรับกับสถานการณ์ COVID 19 มาเล่าสู่กันฟังครับ เมื่อประมาณ 2 ปีก่อนกลุ่มวิจัยฯ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ออกแบบ และพัฒนา อาคารสืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ ๙ ให้แก่โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาทั้ง 10 แห่ง ซึ่งขณะนี้กำลังทยอยเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้งานให้แก่ญาติและผู้ป่วย ในช่วงสถานการณ์ COVID 19 ที่ยากลำบากนี้ โดยเฉพาะโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล

อย่างที่โรงพยาบาลนาวัง เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดหนองบัวลำภู ได้ปรับใช้พื้นที่อาคารสืบสานพระราชปณิธานฯ เป็นพื้นที่เพื่อรองรับและคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงเป็น คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ(ARI Clinic) ที่แยกออกมาจากอาคารผู้ป่วยนอกหลังเดิม โดยให้บริการตั้งแต่ วันที่ 23 มีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบันมีผู้รับบริการจำนวน 78 คนแบ่งเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจจำนวน 61 คน กลุ่มเสี่ยงเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคจำนวน 13 คน (Patients Under Investigation) และกลุ่มโรคระบบอื่นๆจำนวน 13 คน และยังปรับพื้นที่ด้านในเป็นห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉินในขณะที่โรงพยาบาลกำลังปรับปรุงอาคารผู้ป่วยนอกเดิมอยู่ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสามารถมาพักรอตรวจได้อย่างสะดวกไม่ร้อน และแยกออกจากผู้ป่วยปกติ (ข้อมูลจาก พญ.ยุวพร จิระวงศ์ประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา)



อีกตัวอย่างพื้นที่หนึ่ง คือที่โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ซึ่งได้ปรับใช้ อาคารสืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) เช่นกัน โดยอาคารหลังนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าประตูทางเข้าของโรงพยาบาลทำให้โรงพยาบาลสามารถคัดกรอง และแยกระหว่างผู้ป่วย COVID 19 และผู้ป่วยปกติ ก่อนที่จะเข้าไป รับบริการต่อในพื้นที่ด้านในของโรงพยาบาล (ข้อมูลจาก นางคันธารัตน์ สุนทรประทุม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา)



เมื่อย้อนกลับไปดูความตั้งใจของการจัดตั้งอาคารสืบสานพระราชปณิธาน ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เราก็จะพบว่าพื้นที่แห่งนี้ทำหน้าที่มากกว่าพื้นที่สืบสานความรู้ที่ในหลวงรัชกาลที่เก้ามอบให้เราไว้ แต่พื้นที่ยังทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของโรงพยาบาลและชุมชน สามารถเป็นพื้นที่พักคอยและให้ความรู้ในสถานการณ์ปกติ และปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ให้บริการสุขภาพเมื่อมีสถานการณ์ที่ทุกคนต้องเผชิญ
ทั้งหมดนี้เราคิดว่าอาคารสืบสานพระราชปณิธานฯ ได้ทำหน้าที่ตอบสนองแนวคิดโรงพยาบาลที่เป็นมากกว่าโรงพยาบาลได้อย่างดี
 
ขอบพระคุณผู้ให้ข้อมูล
- นพ.อดุลย์ เร็งมา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา
- นพ.วัชรนันท์ ถิ่นนัยธร ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหาดสำราญเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา
- นพ.ประจินต์ เหล่าเที่ยง ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา
- พญ.ยุวพร จิระวงศ์ประภา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา
- จอ.หญิงเมลานี แสงแปลง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา
- นพ.อภิสรรค์ บุญประดับ รักษาการ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพนมดงรักเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา
- คุณสุมาลี ใจชอบงาม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา
- นางคันธารัตน์ สุนทรประทุม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา
- นายสมบูรณ์ จันทร์สว่าง ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา