โครงการออกแบบและพัฒนาสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดหนองบัวลำภู
2559-2561
การพัฒนางานออกแบบของกลุ่มวิจัยฯด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนและบุคลากรโรงพยาบาลนาวังพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เริ่มต้นด้วยกิจกรรมทำความรู้จักโรงพยาบาลผ่านกิจกรรม my mapping วิเคราะห์ผังพื้นที่การใช้งานในปัจจุบัน การออกแบบโรงพยาบาลในฝันร่วมกัน และการลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มชุมชนโดยรอบโรงพยาบาลนั้น พบว่าในปัจจุบันกลุ่มเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ดีมากกับชุมชน มีกิจกรรมที่ทำร่วมกันอยู่เสมอ เช่น การปั่นจักรยาน การจัดกีฬาสี เป็นต้น จึงมีความต้องการให้พื้นที่อาคารสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่นอกจากจะมีส่วนจัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ ๙ แล้วยังเป็นพื้นที่เอนกประสงค์รองรับการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข และการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การอบรมต่างๆ รวมถึงพื้นที่ร้านค้าสวัสดิการ ที่สำคัญคือให้สามารถใช้เป็นพื้นที่รองรับญาติผู้ป่วยที่มาจากในพื้นที่และต่างจังหวัดโดยรอบ ที่มารอรับบริการตรวจรักษาผ่าตัดตาที่เป็นจุดเด่นด้านการบริการสุขภาพของโรงพยาบาลนาวังอีกด้วย เนื่องจากในปัจจุบันญาติและผู้ป่วยผ่าตัดตารอการรักษาด้วยการพักค้างในรถแทน  โดยชุมชนได้สะท้อนความต้องการใช้พื้นที่ที่เน้นวัฒนธรรม “ตุ้มโฮม” ซึ่งหมายถึง การรวมกัน การเกื้อกูล การแบ่งปัน ให้สามารถนำมาประยุกต์การออกแบบพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันระหว่างญาติๆของผู้ป่วยที่มาพักรอจากต่างถิ่นเป็นเวลาหลายวัน เช่น การล้อมวงทานข้าว คุยกัน เป็นต้น ซึ่งชุมชนให้ความเห็นว่าลาน “ตุ้มโฮม” สามารถแทรกอยู่ระหว่างพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกอาคาร

แนวความคิดหลักในการพัฒนาอาคารสืบสานพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโรงพยาบาลนาวังเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จึงเป็นอาคารที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงพยาบาล รวมถึงการใช้ประโยชน์จากศักยภาพโดยรวมของโรงพยาบาลนาวังที่สำคัญคือ มีพื้นที่ป่าชุมชนที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่พักคอยของญาติอย่างไม่เป็นทางการ โดยมีศาลาพักและพื้นที่มีความร่มรื่น ในการออกแบบจึงเน้นให้ชั้นล่างของอาคารเป็นพื้นที่เปิดโล่ง สามารถเข้าถึงอาคารได้โดยรอบ มีม้านั่งขนานกับทางเดินระหว่างช่วงเสาเพื่อให้ญาติผู้ป่วยนั่งพักรอได้อย่างเป็นกลุ่มครอบครัว มีพื้นที่กิจกรรมกลุ่มของชุมชนกับโรงพยาบาล ส่วนชั้นสองเป็นพื้นที่ห้องเอนกประสงค์ที่รองรับคนได้สูงสุด 150 คน โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ห้องประชุมย่อยได้ตามโอกาส โดยรูปแบบเป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นล่างและโครงสร้างเหล็กในชั้นสอง พื้นที่ให้บริการทางด้านสุขภาพของโรงพยาบาลและร้านสวัสดิการ และห้องน้ำที่แยกเป็นห้องน้ำชายหญิงและคนพิการ รูปลักษณ์อาคารภายนอกออกแบบให้ตอบรับกับสภาพอากาศโดยใช้ระแนงกันแดดในการลดความร้อนจากภายนอก และเป็นองค์ประกอบอาคารที่ให้ทางโรงพยาบาลและชุมชนมีส่วนในการสร้างลวดลายของระแนงที่นำแนวความคิดลายผ้าขิด ของนาวังมาประยุกต์ใช้ได้ การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมมีแนวคิดการสร้างความเชื่อมต่อกับพื้นที่ชั้นล่างของอาคารกับป่าชุมชน โดยการนำแนวคิดการใช้พื้นที่ต้อนรับของทางชุมชนภาคอีสาน “ลานตุ้มโฮม” มาเป็นแนวทางในการออกแบบ