ถอดประสบการณ์อาสาสมัครชุมชน คนธรรมดากับภารกิจที่ไม่ธรรมดา สู่แนวทางการแยกกักผู้ป่วย COVID-19 ในบ้านและชุมชน (Home and Community Isolation)
14 กันยายน 2564


ช่วงที่ Covid-19 ระบาดหนักระลอกที่ 3-4 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ปัญหาใหญ่ที่พบคือการแพร่ระบาดในชุมชนเมืองที่มีความแออัดหลายแห่ง จนเกิดเป็นคลัสเตอร์ระบาดขนาดใหญ่ จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและยากที่จะควบคุมได้ ประกอบกับสถานการณ์เตียงเต็มในโรงพยาบาล ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด จึงนำไปสู่การพึ่งพาตัวเองของชุมชนเพื่อหาทางช่วยเหลือคนในชุมชนด้วยกันเอง พร้อมทั้งสกัดกั้นไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปมากกว่านี้
 
“อาสาสมัคร” เกิดขึ้นในชุมชนหลายเขตทั่วกรุงเทพฯ นำโดยกลุ่มผู้นำและสมาชิกภายในชุมชน ร่วมมือกันเข้าช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชุมชนของตัวเอง เนื่องจากระบบสาธารณสุขในขณะนั้นไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนมากได้ทันท่วงที หากรอเตียงจากทางโรงพยาบาลก็ใช้เวลานาน ผู้ป่วยอาจมีการอาการวิกฤติได้ รวมถึงสมาชิกคนอื่นๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อด้วยเช่นกัน หากไม่ได้กับการกักตัวและดูแลรักษาตัวเองอย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงเกิดเครือข่ายความร่วมมือของอาสาสมัครในชุมชนและระหว่างชุมชน ในการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อนำเข้าสู่กระบวนการกักตัวในศูนย์พักคอย หรือที่เรียกว่า Community Isolation รวมถึงการทำ Home Isolation ที่บ้านด้วย
 
ตัวแทนอาสาสมัครชุมชนจากเขตคลองเตย วัฒนาและสวนหลวง ร่วมแชร์ประสบการณ์ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชุมชน
 
ผศ. ดร. สุปรียา หวังพัชรพล และ ผศ. ดร. สรนาถ สินอุไรพันธ์ จากกลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมพูดคุยกับตัวแทนชุมชนหลายท่าน ซึ่งมาจาก 3 เขตในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ชุมชนในเขตคลองเตย, เขตวัฒนา และเขตสวนหลวง
 
เริ่มต้นจากตัวแทนเขตวัฒนา ได้เล่าถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ให้เราฟังว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากช่วงเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ซึ่งการระบาดในช่วงแรกๆ นั้น โรงพยาบาลบางแห่งยังพอรองรับผู้ติดเชื้อได้ แต่เมื่อผู้ติดเชื้อ แพร่เชื้อไปสู่สมาชิกในบ้านคนอื่นๆ รวมไปถึงบ้านใกล้เรือนเคียง จึงทำให้เกิดการระบาดอย่างเป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นลักษณะนี้ในหลายชุมชน จนทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
                   
“ในส่วนของเขตวัฒนา การระบาดในคลัสเตอร์แรกมาจากทองหล่อ มีคนที่ทำงานในย่านนั้นติดเชื้อ พอทางผู้นำชุมชนและอาสาสมัครทราบเรื่อง ก็ได้เข้าไปพูดคุยแล้วก็ประสานงานแล้วก็ส่งต่อไปโรงพยาบาลตามประกันสังคมของเค้า แต่พอช่วงที่ติดเยอะมากขึ้น อย่าง 2 เดือนแรกก็ทะลุร้อยกว่าคน การส่งต่อโรงพยาบาลหรือศูนย์พักคอยก็ยากขึ้น ใช้เวลารอนานพอสมควร
 
ระหว่างรอเราก็นำยาจากของศูนย์สาธารณสุขไปแจกให้ เพื่อรักษาตามอาการและเอาอาหาร เจลแอลกอฮอล์ไปแจกและฉีดพ่นฆ่าเชื้อให้ แนะนำให้เขาใช้ไฮเตอร์ผสมน้ำสำหรับไว้ทำความสะอาดห้องด้วย นอกจากนี้ก็มีประสานไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อให้เข้ามาช่วยดูแลผู้สัมผัสกลุ่มเสี่ยงสูงที่ใกล้ชิดผู้ติดเช่น เช่น ภรรยา ลูก หรือคนในบ้านที่จะต้องกักตัว ทางเรามีประสานไปทางคุณหมอของโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทและโรงพยาบาลจุฬาเพื่อขอคำแนะนำในการดูแลด้วย เรียกได้ว่าเราพยายามทำเท่าที่จะทำได้ตามอัตภาพของในชุมชน แรกๆ ก็ลองผิดลองถูกกัน มีรับบริจาคจากในเครือข่ายมาแจกจ่ายบ้าง จนตอนนี้มีศูนย์พักคอยของเขต สามารถแบ่งเบาภาระในชุมชนได้เพิ่มขึ้น สถานการณ์โดยรวมตอนนี้คือจำนวนผู้ป่วยลดน้อยลงค่ะ”
 

นอกจากนี้ทางชุมชนในเขตวัฒนายังได้รับความช่วยเหลือจากทางสำนักเขตพื้นที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมูลนิธิต่างๆ อาทิเช่น มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิกระจกเงา และองค์กรอื่นๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งได้เข้ามาหนุนเสริมในการทำงานเครือข่ายให้คล่องตัวยิ่งขึ้น รวมถึงความช่วยเหลือจากกลุ่มแพทย์ชนบท ในการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน ถือว่าประสบความสำเร็จมากในเขตวัฒนา เพราะมีส่วนช่วยหยุดการแพร่ระบาดไปได้มากเลยทีเดียว
 
“พอพบผู้ป่วย เราก็จะแยกเค้าออกมา เช่นในชุมชนแจ่มจันทร์จะใช้วิธีการขอความร่วมมือจากอะพาร์ตเมนต์ที่มีห้องว่าง หากคนในอะพาร์ตเมนต์นั้นติด เจ้าของต้องให้ผู้ติดเชื้ออาศัยอยู่ต่อ ถ้าอยู่กันหลายคนให้แยกตัวไปยังห้องว่าง รวมถึงในกรณีที่คนในชุมชนไม่มีพื้นที่แยกกักตัว เราก็ไปขอเจรจาต่อรองใช้พื้นที่ห้องว่างในอะพาร์ตเมนต์นั้นๆ โดยเราก็จะมาช่วยดูแลในเรื่องของการพ่นฆ่าเชื้อส่วนกลาง พวกราวบันไดต่างๆ และประสานนักการเมืองที่อยู่ในพื้นที่เข้าไปช่วยหนุนเสริม ส่วนเรื่องอาหารส่วนใหญ่แล้ว เราก็จะเป็นคนทำไปให้ผู้ติดเชื้อที่กักตัวในเบื้องต้นค่ะ แต่ถ้าชุมชนอื่นๆ จะมีที่ทำการชุมชนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ก็จะใช้ทำเป็นศูนย์พักคอย บางที่ก็ใช้พื้นที่ของสุเหร่าหรือโรงเรียนเปิดรับผู้ติดเชื้อที่เป็นเคสสีเขียว เพื่อเข้าไปพักรักษาตัวและแยกกักมาจากครอบครัวเพื่อความปลอดภัยค่ะ”
 
ทางด้านตัวแทนจากชุมชนพัฒนาใหม่ เขตคลองเตย ได้แชร์ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยในชุมชนของตัวเองเช่นกัน โดยได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายชุมชน มูลนิธิ และจากหน่วยงานราชการ
 
“เรามีทีมงานที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิดวงประทีป ทีมงานของแม่หมวย นิตยา และทีมที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณสุชัย พงษ์เพียรชอบ ซึ่งดูแลรับผิดชอบในส่วนของเขตคลองเตยอยู่ ชุมชนนี้จะเป็นเหมือนต้นแบบ เริ่มแรกเรานำผู้ป่วยออกมาอยู่ที่ทำการชุมชนและติดต่อทางหน่วยงานให้มารับไปส่งที่ศูนย์พักคอย แต่เคสแรกใช้เวลารอนานถึง 5 วัน เราจึงได้ประชุมกันและจัดทำศูนย์พักคอยเอง หากคนในชุมชนพบว่าตัวเองติดเชื้อให้แจ้งคณะกรรมการชุมชน หลังจากนั้นผู้ติดเชื้อก็มาเหมือนสายน้ำไหลเลย ปกติบ้านหลังหนึ่งอยู่ด้วยกันประมาณ 5-6 คน เราแยกเฉพาะผู้ติดเชื้อออกมาคนเดียวที่ศูนย์พักคอย และติดต่อทางสำนักงานเขต และกองควบคุมโรคของเขตมาช่วยดูแลให้ พร้อมส่งต่อไปรักษาโรงพยาบาล ปัจจุบันนี้เราเข้าโครงการศูนย์พักคอยของวัดสะพานด้วย”
 

ผู้ป่วย Covid-19 บางส่วน ได้เข้ารับการรักษาที่ศูนย์พักคอย วัดบางสะพาน เขตคลองเตย
ที่มา : Facebook สำนักงานเขตคลองเตย



ศูนย์พักรักษาอินดอสเตเดียม บริเวณกรมศุลกากร โดยทาางทีมมูลนิธิดวงประทีป สภาองค์กรชุมชนคลองเตยและสหกรณ์คลองเตยได้ทำหนังสือขอใช้สถานที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเป็นที่รองรับผู้ติดเชื้อ Covid-19 จำนวน 300 เตียง เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564

ทางด้านตัวแทนชุมชนสวนอ้อย เขตคลองเตย ก็ได้พูดถึงการกักตัวในชุมชนที่จะเน้นเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวเป็นหลัก รวมถึงร่วมเป็นอาสาสมัครที่ศูนย์พักคอยวัดสะพาน ซึ่งเป็นศูนย์หลักในการดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่คลองเตย ซึ่งทางอาสาสมัครชุมชนก็ได้เข้าไปสนับสนุนการทำงานของวัดบางสะพานอย่างเต็มที่ รวมถึงการทำ Home Isolation ของผู้ป่วยเคสสีเขียว
 
“ทางด้านชุมชนสวนอ้อย ตอนนี้เรามีอาสาสมัครไปทำงานให้กับศูนย์พักคอยวัดสะพาน ซึ่งมีหลวงพ่อเป็นแกนนำในการระดมประธานชุมชนหรือกรรมการที่สนใจจะเป็นอาสาเพื่อจะไปลงพื้นที่ดูแลคนในชุมชนตัวเองตามความสมัครใจ โดยจะให้ไปอบรมกับแพทย์ โรงพยาบาลสิรินธร เช่น หลักการเบื้องต้นวิธีการใช้ถังออกซิเจนกับผู้ป่วย และจากนั้นจะเข้ากลุ่ม LINE สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์ได้เวลาประเมินอาการผู้ป่วย
 
ส่วนอีกทีมจะเป็นดูแลโครงการ Home Isolation ของคนในชุมชน โดยจะแบ่งเป็น 2 ทีมย่อย ทีมแรกจะลงพื้นที่ดูแลผู้ป่วยโควิด ให้ความช่วยเหลือผู้กักตัว รวมถึงกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุในชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ กรณีที่พบผู้ป่วย เราก็จะลงพื้นที่ไปตรวจดูอาการเบื้องต้น และเก็บข้อมูลบัตรประชาชน รวมถึงผลแลปเพื่อจะไปทำเรื่องเบิกยาให้เค้าค่ะ จากนั้นให้ผู้ป่วยทานยารักษาตามอาการ ระหว่างนี้ก็จะให้ผู้ป่วยเข้ากลุ่ม LINE ของชุมชนสวนอ้อยเพื่อทำให้การดูแลเป็นไปอย่างทั่วถึง และเมื่อรักษาครบ 14 วัน เราจะให้เค้าแยกตัวพร้อมแนะนำวิธีการอยู่บ้านยังไงให้แบบไม่ติดกับคนในบ้าน แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องอยู่ร่วมกับสมาชิกในบ้านหลายคน เราก็จะพยายามประสานให้ผู้ป่วยคนนี้ไปอยู่โรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอยวัดสะพาน แต่ใครที่อยู่คนเดียวอยู่แล้วเราก็จะแนะนำให้เค้าอยู่บ้านเลย เพื่อจะได้ไม่ไปเบียดกับคนที่อาการหนัก
 
ส่วนอาสาสมัครกลุ่มที่ 2 จะเป็นกลุ่มลงพื้นที่เพื่อฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในชุมชนสวนอ้อย โดยจะลงพื้นที่เดือนละ 3-4 ครั้งหรือฉีดพ่นฆ่าเชื้อให้กับบ้านผู้ป่วยที่เคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาลหรือศูนย์พักคอยวัดสะพาน เพื่อฆ่าเชื้อที่อยู่ในบ้านและรอบรอบข้างบ้าน สร้างความสบายใจให้ชาวบ้านในชุมชนค่ะ”

 
 
อาสาสมัครเข้าไปฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในเขตชุมชนพักอาศัย

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของกลุ่มอาสาสมัครคือมีกลุ่มคนที่เคยป่วยติดเชื้อ Covid-19 เมื่อรักษาตัวหายดีแล้วก็ได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครด้วยเช่นกัน เพื่อช่วยเหลือคนป่วยคนอื่นๆ ด้วยประสบการณ์ที่ตนเองเคยผ่านมาก่อนหน้านี้ จึงให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดี รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็นเยาวชน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมด้วย เพราะที่ผ่านมาทางชุมชนมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเสมอมา สามารถสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนเข้ามาร่วมมือกันได้ง่าย
 
เช่นเดียวกับในชุมชน 70 ไร่ เขตคลองเตย อาสาสมัครเยาวชนท่านหนึ่งได้แชร์ประสบการณ์การทำงาน ผสานการใช้เทคโนโลยีเช่น สื่อสังคมออนไลน์ นำมาใช้ประสานงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
 
“หนูเป็นจิตอาสาของชุมชน 70 ไร่ค่ะ ในชุมชนช่วงแรกจะมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก เพราะว่ามีจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 10,000 คน มีหลังคาเรือนทั้งหมด 1,200 หลังคาเรือนค่ะ จุดประสงค์หลักที่หนูตัดสินใจมาทำอาสาสมัครคือ ถ้าชุมชนปลอดภัยครอบครัวหนูก็ปลอดภัย จนตอนนี้คนในชุมชนก็เริ่มจะมีวิธีการดูแลตัวเองแล้ว สิ่งที่หนูจัดตั้งขึ้นมาคือเพจ Facebook ในชุมชน และกลุ่ม LINE ที่สามารถแชร์ข้อมูลให้กันได้ ถ้าเกิดมีผู้ติดเชื้อให้แจ้งเรามาได้เลย ทางทีมจะสามารถช่วยเหลือได้ทัน ไม่ว่าจะส่งข้าวถุงยังชีพและยารักษาโรคให้กับผู้ที่กักตัว อย่างในกลุ่ม LINE นี้จะมีหมอจากโรงพยาบาลจุฬาด้วยค่ะ โดยจะให้ข้อมูลในเบื้องต้นได้ว่าเคสนี้ต้องทำยังไงต่อ หนูเองก็ได้ทำงานอาสาหลายอย่างภายในชุมชน ตอนนี้ก็บรรลุจุดมุ่งหมายของหนูแล้วค่ะ เพราะว่าตอนนี้คนในชุมชนเริ่มติดเชื้อน้อยลง”

นอกจากนี้ในเขตคลองเตยยังมีชุมชนอื่นๆ เข้ามาร่วมพูดคุยอีกหลายแห่ง ได้แก่ ชุมชนคลองเตยล็อก 123,  ชุมชนบ้านมั่นคง, ชุมชนริมคลองวัดสะพาน รวมถึงตัวแทนชุมชนในเขตสวนหลวงก็ได้มาร่วมพูดคุย แชร์ประสบการณ์การทำงานอาสาสมัครด้วยเช่นกัน
 
ถอดประสบการณ์ Home Isolation สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการดูแลผู้ป่วย Covid-19 ในชุมชน

 
จากการพูดคุยกับตัวแทนอาสาสมัครและผู้นำชุมชนหลายแห่งข้างต้น ทำให้มองเห็นภาพรวมของการทำงานอาสาสมัครของแต่ละชุมชนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้จะมีรายละเอียดขั้นตอนที่แตกต่างกันอยู่บ้างก็ตาม ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละชุมชน แต่โดยรวมแล้วการมีอาสาสมัครชุมชนมีประโยชน์อย่างมาก เพราะสามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว เช่น เมื่อมีการตรวจเชิงรุกและพบผู้ติดเชื้อ อาสาสมัครก็จะลงพื้นที่จริงและเข้าไปสอบถามอาการเพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อเบื้องต้น ภายใต้การให้คำปรึกษาของทีมแพทย์เครือข่ายที่ชุมชนประสานความร่วมมือด้วย จากนั้นจะประเมินอาการว่าเป็นเคสสีอะไร ผู้ป่วยหนักเบาแค่ไหน มีโรคประจำตัวหรือไม่ หากเป็นเคสสีเหลืองขึ้นไปถึงแดง ก็จะทำการส่งต่อไปโรงพยาบาลหรือศูนย์พักคอยตามอาการ แต่หากเป็นสีเขียวสามารถกักตัวอยู่ที่บ้าน ทำ Home Isolation ได้
 
 
ทีมบุคลากรทางการแพทย์ คอยติดตามอาการของผู้ป่วย Covid-19 ที่ทำ Home Isolation อยู่ที่บ้าน
 
สำหรับการเข้าไปดูแลผู้ป่วยที่กักตัวอยู่ที่บ้านหรืออยู่ในชุมชน หลังจากเข้าระบบ Home Isolation แล้ว  ผู้ป่วยจะต้องแยกตัวออกจากสมาชิกภายในบ้าน แยกพื้นที่กันอยู่หากเป็นไปได้ และคอยดูแลรักษาความสะอาดให้ดี มีการสื่อสารกับกลุ่มอาสาสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น LINE เวลาต้องการถุงยังชีพหรือต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ก็จะติดต่อกันได้ง่าย รวมถึงมีทีมแพทย์คอยโทรสอบถามอาการเป็นประจำอีกด้วย เพื่อประเมินอาการในแต่ละวัน นอกจากนี้จะมีการส่งยารักษา อาหาร น้ำดื่มให้ด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาค และเกิดจากการอาสาสมัครในชุมชนเองที่ได้มาช่วยกันทำอาหารปรุงสุก คละไปกับการนำข้าวสารอาหารแห้งแจกจ่ายผู้ที่กักตัวอยู่ที่บ้าน จนกระทั่งครบระยะเวลา 14 วัน อาสาสมัครจะคอยติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและคอยรายงานไปยังศูนย์ดูแลผู้ป่วยในแต่ละพื้นที่
 

ลักษณะที่อยู่อาศัยในชุมชน ค่อนข้างมีพื้นที่น้อย การเว้นระยะห่างทางสังคมค่อนข้างทำได้ยาก
 
การทำงานของกลุ่มอาสาสมัครมีส่วนช่วยให้หลายชีวิตได้รับความช่วยเหลือทันเวลา โดยความช่วยเหลือนั้นมาจากคนในพื้นที่เดียวกันเอง รวมถึงมาจากเครือข่ายใกล้เคียง ซึ่งล้วนมีความเข้าใจในบริบทของชุมชนและผู้คนในโซนนั้นๆ อยู่แล้ว ทำให้สามารถเข้าไปพูดคุย ประสานงาน และให้คำแนะนำได้อย่างเหมาะสม โดยอาศัยความร่วมมือกันหลายฝ่าย จากการแลกเปลี่ยนตัวแทนชุมชนต่างเห็นว่าการจัดการระบบ Home isolation นั้นชุมชนต้องมีความพร้อมและต้องสมัครใจด้วย โดยเสนอให้มีการเตรียมทีมงานแบ่งออกตามหน้าที่อย่างชัดเจนและเป็นระบบ เพื่อที่จะได้ทำงานได้รวดเร็วและง่ายขึ้น เช่น
 
• “ฝ่ายเวชระเบียน” เป็นผู้ที่เก็บข้อมูลของผู้ป่วยในชุมชน โดยต้องเป็นคนที่ใช้เทคโนโลยีเป็น มีอุปกรณ์ซัพพอร์ตพร้อม เช่น คีย์รายชื่อเข้าไปในระบบเพื่อให้เป็นฐานข้อมูล เปิดดูได้ง่ายและไม่สูญหาย
•  “ฝ่ายประสานงาน” ทำหน้าที่ประสานงานทั้งภายในชุมชน เช่น ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย รวมถึงประสานงานภายนอกชุมชน เช่น โรงพยาบาล อย่างการส่งต่อในกรณีที่เป็นเคสหนักหรือเมื่อผู้ติดเชื้อกักตัวที่บ้านแล้วมีอาการแย่ลง ต้องรับผิดชอบแสตนบายในการติดต่อกับทางโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
•  “ฝ่ายรับบริจาค” ทำหน้าที่ติดต่อกับผู้สนับสนุนหรือผู้บริจาคโดยเฉพาะ เวลามีของมาบริจาคจะได้ส่งผ่านได้ง่าย มีคนรับผิดชอบอย่างเป็นกิจลักษณะ และส่งต่อไปยังกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือได้ทันที
•  “ฝ่ายเสบียงและยังชีพ” ดูแลเรื่องการประกอบอาหาร ทำครัว เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยและคนในชุมชน
•  “ฝ่ายสถานที่และฉีดพ่น” ทำหน้าที่เตรียมสถานที่ในชุมชน ในกรณีที่ต้องจัดแจงพื้นที่สำหรับทำศูนย์พักคอยหรือสถานที่เฉพาะกิจบางอย่าง รวมถึงดำเนินการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในบ้านของผู้ติดเชื้อและตามเขตสาธารณะ เพื่อความปลอดภัยของคนในชุมชน ซึ่งควรมีกำหนดระยะเวลาฉีดพ่นเป็นประจำทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน
•  “ฝ่ายลำเลียงและขนส่ง” เมื่อฝ่ายประสานงานติดต่อกับทางโรงพยาบาลหรือหน่วยตรวจผู้ป่วยได้แล้ว ฝ่ายนี้จะทำหน้าที่ในการส่งตัวผู้ป่วยไปยังที่หมาย ซึ่งต้องอาศัยยานพาหนะที่มีความเหมาะสมด้วย
 
 

การขนส่ง ลำเลียงผู้ป่วยมายังศูนย์พักคอย วัดบางสะพาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทางเขตคลองเตยด้วย
ที่มา : Facebook สำนักงานเขตคลองเตย
 
ส่วนปัญหาจากการลงพื้นที่เข้าไปดูแลผู้ป่วยก็พบหลายกรณีเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ป่วยไม่ยอมทำตามมาตรการกักตัวที่บ้าน, ไม่เชื่อฟังผู้นำชุมชนหรืออาสาสมัคร รวมถึงปกปิดข้อมูล ทั้งหมดนี้ทางชุมชนอยากให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการร่วมด้วย เพื่อทำให้ประชาชนตระหนักถึงความรับผิดชอบและผลที่จะตามมาให้มากขึ้น
 
“บางครั้งชุมชนทำงานกันลำบากมากที่สุด ประธานไม่สามารถเบ็ดเสร็จกับลูกบ้านได้ทั้งหมด ตอนนี้ที่ประธานหนักใจมากก็คือลูกบ้านบางคนเราเอาไม่อยู่ เราต้องการให้ภาครัฐที่มีอำนาจในมือเข้ามาประชาสัมพันธ์และประกาศให้เค้ารู้ว่ามันผิดกฎหมายอย่างไร บทลงโทษการที่คุณต้องรับผิดชอบด้านสังคมคืออะไร และอยากให้ทางการให้ความช่วยเหลือเรามากขึ้น ทุกวันนี้เราอยู่กันมา 3-4 เดือน เราอยู่ด้วยลำแข้งของตัวเอง ต้องพยายามขวนขวายหาเอง เราพร้อมดูแลชุมชนของเราเอง แต่เพียงต้องการให้กฎหมายเข้าไปช่วยเราอีกแรงนึง ช่วยบอกกล่าวให้ชาวบ้านได้รู้ถึงหน้าที่ของเค้าว่าเค้าต้องรับผิดชอบสังคมยังไงบ้าง”  เสียงสะท้อนจากผู้ร่วมประชุมท่านหนึ่งได้บอกกับเรา
 
จากคนธรรมดาสู่ภารกิจที่ไม่ธรรมดา กับการเป็นอาสาสมัครชุมชน
 
อาสาสมัครที่เกิดขึ้นเฉพาะกิจนี้ สะท้อนให้เราเห็นถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชนคนธรรมดา ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมให้รอดพ้นจากวิกฤติ แม้จะมีอุปสรรคพอสมควรแต่พวกเขาล้วนเต็มใจที่จะยื่นมือช่วยเหลือชุมชนของตัวเอง สิ่งที่เหล่าอาสาสมัครทำนั้นเป็นภารกิจที่ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ เพราะไม่มีค่าตอบแทนใดๆ แต่ต้องสละทั้งกำลังกายใจและมีความเสี่ยงสูงอีกด้วย บางชุมชนพบว่าอาสาสมัครติดเชื้อและต้องกักตัว แต่ด้วยภาระหน้าที่รับผิดชอบนี้ พอรักษาตัวหายแล้วก็ต้องกลับมาช่วยเหลือผู้ติดเชื้อคนอื่นๆ อีก ดังนั้นอาสาสมัครจึงเปรียบเสมือนด่านหน้าท่ามกลางสนามรบก็ว่าได้
 
 
ข้อมูลสถิติผู้ติดเชื้อ Covid-19 ในเขตคลองเตย วันที่ 6 กันยายน 2564
ที่มา: Facebook สำนักงานเขตคลองเตย
 
การทำงานเป็นอาสาสมัครสู้กับวิกฤติโรคระบาดในครั้งนี้ ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ไม่มีใครในชุมชนเคยเผชิญมาก่อน การลุกขึ้นมาเป็นอาสาสมัครโดยไม่มีใครมาให้หลักสูตร แต่ทุกคนต้องไปเรียนรู้เอง จนกระทั่งนำไปสู่การเกิด Home Isolation และ Community Isolation อย่างที่เห็นทุกวันนี้ นับว่าเป็นอีกก้าวของการพึ่งพาตนเองโดยภาคประชาชนเป็นผู้นำการขับเคลื่อนและเป็นผู้ปฏิบัติจริงในชุมชนของตัวเอง
 

มูลนิธิพร้อมใจพัฒนา รับมอบของบริจาคเพื่อส่งต่อให้แก่คนในชุมชน


คนในชุมชนเป็นจำนวนมาก เข้าต่อแถวเพื่อรับของบริจาคช่วง Covid-19 ระบาด

คุณนิตยา พร้อมพอชื่นบุญ หรือคุณหมวย จากมูลนิธิพร้อมใจพัฒนา ตัวแทนชุมชนบ้านมั่นคงสร้างสรรค์พัฒนา 7-12 และเป็นผู้ประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชุมชนเครือข่าย ได้กล่าวถึงการทำงานของกลุ่มอาสาสมัครได้อย่างน่าสนใจ ชี้ให้เห็นถึงการเรียนรู้ท่ามกลางการลงมือทำงานจริง สิ่งที่ได้เรียนรู้ระหว่างทางสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละชุมชนด้วย ประเด็นสำคัญที่สุดคือการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและควรได้รับความรู้ที่ถูกต้อง
 
“อาสาสมัครทุกชุมชนได้นำประสบการณ์ของตัวเองที่ไม่มีรูปแบบอะไร โดยพยายามช่วยเหลือคนในชุมชนของตัวเอง ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าทุกคนสามารถทำได้ โดยไม่มีรูปแบบตายตัวของคนใดคนหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละชุมชน สุดท้ายแล้วเรามองว่า หากมีคนป่วยกายก็ต้องไปหาหมอ ถ้าป่วยจิตก็ต้องมีนักสังคมสงเคราะห์ มีนักจิตวิทยาเข้ามาช่วยรักษา การแพร่ระบาดก็ต้องมีการป้องกัน ดังนั้นชุมชนเองจึงต้องมีความรู้ โดยต้องทำควบคู่กันไปตามบริบทของชุมชนนั้นๆ และสุดท้ายนี้จะเห็นว่ามีคนป่วยคนไข้ลุกขึ้นมาทำงานอาสาด้วย และเรายังมีอาสาสมัครที่เป็นเยาวชนเป็นคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาช่วยสังคม เป็นสิ่งที่หายากมากเลย เช่น ในชุมชน 70 ไร่ มีอาสาสมัครที่เป็นเยาวชน เป็นวัยรุ่นที่ทำงานดูแลคนป่วย สิ่งที่ดีคือเยาวชนลุกขึ้นมาทำงานรู้เกี่ยวกับงานดูแลสุขภาพ แน่นอนว่าเจ็บป่วยมาเราก็ต้องพึ่งพาหมอเป็นอันดับแรกอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นแบบนี้ชุมชนต้องเดินทางไปพร้อมกับงานป้องกันที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง มันจะสกัดได้”
 
การให้ความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลตัวเอง เป็นสิ่งที่คุณหมวยได้ให้ความสำคัญและทิ้งท้ายเอาไว้ว่า งานป้องกันเป็นงานใหญ่ ควรเดินไปพร้อมกับการรักษาสุขภาพ และการดูแลสุขภาพจิต
 
ดังนั้นทางมูลนิธิพร้อมใจพัฒนา โดยการสนับสนุนทุนจาก The Global Fund  จึงได้วางแผนจัดกิจกรรมการอบรม “ชุมชนตื่นรู้ สู้ภัยโควิด อย่างยั่งยืน” แก่อาสาสมัครชุมชน โดยในเบื้องต้นได้ร่วมกับกลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ และตัวแทนแพทย์ชนบท โรงพยาบาลปางมะผ้า อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นกลุ่มแพทย์อาสาที่เคยมาตรวจ Covid-19 เชิงรุกให้กับคนในชุมชน นำโดยนายแพทย์สุพัฒน์  ใจงาม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้า และนายอาคม ยอดชมภู นักวิชาสาธารณสุข หน่วยงานปฐมภูมิและองค์รวม โรงพยาบาลปางมะผ้า ได้จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการป้องกันโรค Covid-19 ให้กับตัวแทนอาสาสมัครชุมชนในเขตคลองเตย, เขตวัฒนา และเขตสวนหลวง
 
การอบรมในครั้งนี้ได้ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. ผ่านการประชุมช่องทาง Online โดยมีตัวแทนอาสาสมัครชุมชนเข้าร่วม ซึ่งกลุ่มอาสาสมัครนี้จะทำหน้าที่ประสานงานและดูแลอำนวยความสะดวกให้กับตัวแทนครอบครัวผู้ติดเชื้อในชุมชนในอนาคตต่อไป
 
หากการดำเนินโครงการนี้สำเร็จลุล่วง จะสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือของชุมชนที่เข้มแข็ง พร้อมเป็นต้นแบบให้กับชุมชนเมืองอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ Covid-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว อย่าลืมติดตามกิจกรรมถอดบทเรียน “ชุมชนตื่นรู้ สู้ภัยโควิด อย่างยั่งยืน” ได้ทาง Facebook Page และเว็บไซต์ ของกลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ เร็วๆ นี้

#สสส #BEresearchunit #สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ
 
(ผู้เรียบเรียง : พรภัทรา ภาณุนันทน์)