โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา กับภารกิจเยียวยารักษาที่เข้าใจ ‘ชุมชน’
28 พฤศจิกายน 2564



เป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ที่เกิดวิกฤติโรคระบาด Covid-19 ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โรงพยาบาลกับการทำหน้าที่เป็น “ด่านหน้า” ในการป้องกันรักษาโรค นับว่าเป็นบทบาทสำคัญ เพราะนอกจากจะต้องดูแลรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังต้องเชื่อมโยงไปยังชุมชนแต่ละแห่ง เพื่อบริหารจัดการวิกฤติที่เกิดขึ้นด้วย
 
โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ในภาคใต้ค่อนข้างหนัก บทบาทหน้าที่ของแพทย์ พยาบาล ต้องรักษาทั้งผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลและศูนย์พักคอย รวมถึงฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 ให้แก่คนในชุมชน
 
[บทบาทของโรงพยาบาลชุมชนท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด]
 
กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พูดคุยกับนายแพทย์ อดุลย์ เร็งมา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ผู้มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำด่านหน้าในครั้งนี้ โดยต้องบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์ และพื้นที่สุขภาวะในโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
 
นายแพทย์ อดุลย์ เร็งมา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ผู้มีบทบาทสำคัญด้านการบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์ และพื้นที่สุขภาวะในโรงพยาบาล รวมถึงให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนทั้งในโรงพยาบาลและในชุมชน

คุณหมออดุลย์ได้เล่าให้เราฟังว่า ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา Covid-19 ระบาดหนักในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิถีการใช้ชีวิตของคนในชุมชนเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ซึ่งทางโรงพยาบาลได้รองรับผู้ป่วยติดเชื้อเป็นจำนวนมาก จนเตียงเต็ม ทำให้ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสนามและทำการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)
 
อีกประการหนึ่ง คือทำหน้าที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง ทางโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จึงกลายเป็นสถานที่ฉีดวัคซีนของคนในพื้นที่ ดังนั้นในแต่วันจะมีผู้คนหมุนเวียนเปลี่ยนเข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก
 
การฉีดวัคซีน เป็นแนวทางที่โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา พยายามผลักดันในคนในพื้นที่เข้ามารับบริการ เพื่อป้องกันโรคและลดความเสี่ยงติดเชื้อรุนแรง

ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงพยาบาล ได้เน้นไปที่การบริหารจัดการบุคลากร การจัดสรรหน้าที่การทำงานของแต่ละฝ่าย อาจมีหนักบ้างในบางจุดหรือบางจังหวะ แต่โดยรวมสามารถทำออกมาได้ค่อนข้างดี แม้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานหนักมากขึ้นแต่ก็เป็นที่ยอมรับและเต็มใจที่จะปฏิบัติร่วมกัน เพราะทุกคนอยากช่วยกันแก้ปัญหาและให้บริการผู้ป่วยให้ดีที่สุด นอกจากนี้ยังมีการวางกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพด้วย
 
[อาคารภูมิพัฒน์ พื้นที่สุขภาวะเพื่อชุมชน]
 
ส่วนการบริหารจัดการพื้นที่ภายในโรงพยาบาล ก็มีการแบ่ง Zoning บริการอย่างเป็นสัดส่วน และจัดเรียงเส้นทางได้เป็นอย่างดี โดยแยกส่วนผู้ป่วยและผู้มาฉีดวัคซีนได้อย่างชัดเจน ไม่ปะปนกัน ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย มีการเพิ่มจุดนั่งรอสำหรับฉีดวัคซีนและเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาวะ ลดความเสี่ยงจากโรคระบาด


ในช่วงสถานการณ์ Covid-19 ระบาด ทางโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ได้รองรับผู้ป่วยติดเชื้ออย่างเต็มความสามารถ และยังปรับพื้นที่ "อาคารภูมิพัฒน์" สำหรับฉีดวัคซีนให้กับคนในพื้นที่อีกด้วย โดยจัดแนวเส้นทางและแบ่งโซนอย่างเป็นสัดส่วน มีความสะดวกและปลอดภัย
 
ทั้งนี้มีการใช้พื้นที่อาคารภูมิพัฒน์ ซึ่งเป็นอาคารที่ทางกลุ่มวิจัยฯ และภาคีสถาปนิกอย่างตาแสงสตูดิโอ ได้เข้าไปช่วยออกแบบในโครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ปัจจุบันสร้างเสร็จเรียบร้อยอย่างสวยงามพร้อมเปิดใช้งาน โดยได้นำพื้นที่บางส่วนมาใช้เฉพาะกิจในช่วง Covid-19 ระบาดด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มารับบริการฉีดวัคซีน ญาติผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล
 
อย่างพื้นที่ลานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ฉีดวัคซีนอย่างครบวงจร (One Stop Service)  ประกอบไปด้วย จุดพักคอยและจุดฉีด พร้อมเส้นทาง Flow ที่ชัดเจน ข้อดีคือสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ผู้รับบริการสามารถมาฉีดวัคซีนได้ที่จุดนี้จุดเดียวก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้เลย โดยไม่ไปปะปนกับผู้ป่วยในโซน OPD


นอกจากนี้พื้นที่ลานนิทรรศการในอาคารภูมิทัศน์ ยังจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งทางโรงพยาบาลได้จัดแสดงหมุนเวียนเป็นประจำทุกเดือน ผู้มาใช้บริการสามารถเข้ามาเยี่ยมชมระหว่างรอเรียกคิวได้
 
อีกทั้งโดยรอบมีการจัด Landscape ตกแต่งสภาพแวดล้อมอย่างสวยงาม พร้อมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติที่ทางโรงพยาบาลจัดในแต่ละเดือน เพื่อให้ผู้มาใช้บริการได้พักผ่อนและเยี่ยมชมระหว่างรอเรียกคิว สร้างประสบการณ์ที่ดีในการเข้ามาใช้งานพื้นที่ในโรงพยาบาล
 
ส่วนบนชั้น 2 ของอาคารภูมิพัฒน์ จะเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ใช้งานเป็นสถานที่ประชุมภายในและประชุมร่วมกับตัวแทนชุมชนในวาระสำคัญต่างๆ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก

ชั้น 2 ของอาคารภูมิพัฒน์เป็นห้องประชุม ซึ่งได้ใช้ประโยชน์ในการประชุม พูดคุยในวาระสำคัญต่างๆ ของโรงพยาบาล
 
[โรงพยาบาลและชุมชน ความสัมพันธ์ที่ต้องเข้าใจกัน]
 
ไม่เพียงแต่การเยียวยารักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ยังได้เชื่อมโยงการทำงานกับชุมชนด้วย โดยได้ฉีดวัคซีนให้แก่ชาวบ้านในจุดสำคัญต่างๆ เช่น โรงเรียน สถานีอนามัย และตามหมู่บ้าน พร้อมให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนหันมาฉีดวัคซีนกันมากขึ้น
 
การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ฉีดวัคซีน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และสนับสนุนให้ผู้คนเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายยิ่งขึ้น

เนื่องจากที่ผ่านมาคนในพื้นที่เอง มีทัศนคติต่อการฉีดวัคซีนภายใต้กรอบความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม บางคนยังไม่เปิดใจที่จะฉีดวัคซีนด้วยเหตุผลบางประการ นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับทีมแพทย์ที่จะเข้าไปรณรงค์ให้คนในพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 เพื่อลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อ
 
อย่างไรก็ตาม การรักษาเยียวยาและป้องกันโรคของโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ตั้งอยู่บนพื้นฐาน “ความเข้าใจ” ในสิ่งที่ชุมชนเป็นเสมอ เพราะชุมชนคือองค์ประกอบหนึ่งของโรงพยาบาล การจะก้าวผ่านสถานการณ์ยากลำบากนี้ไปได้ ต้องค่อยศึกษาหาจุดกึ่งกลางที่พอดีและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายไปพร้อมๆ กัน


โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ยังได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปฉีดวัคซีนให้กับคนในชุมชนเอยู่เป็นประจำ
 
ปัจจุบัน คนในพื้นที่นราธิวาสได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปเกินกว่า 50% แล้ว ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะยังไม่มากพอ ทางโรงพยาบาลวางเป้าหมายฉีดวัคซีนให้มากขึ้นผ่านการเข้าไปในชุมชนโดยตรง ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาและความร่วมมือของผู้นำชุมชน รวมถึงผู้นำทางจิตวิญญาณ เพราะความร่วมมือนี้คือปัจจัยที่จะเข้ามาเร่งให้ผลลัพธ์เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น บทบาทแกนนำสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดและทัศนคติของชาวบ้านได้ดีที่สุด


นอกจากนี้ยังมีการออกหน่วยแพทย์เฉพาะกิจเพื่อตรวจ หาเชื้อ Covid-19 ในชุมชนด้วย เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงทีและปลอดภัยต่อชุมชน
 
โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ยังเดินหน้าทำภารกิจทางการแพทย์อย่างเต็มที่และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ การบริหารจัดการไปตามสถานการณ์ แม้ที่ผ่านมาจะต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทาย แต่ด้วยบทบาทหน้าที่ของ “โรงพยาบาลชุมชน” ก็พร้อมช่วยเหลือชุมชนในทุกมิติ เป็นที่พึ่งแก่ผู้คนทั้งในสถานการณ์ปกติและท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดเช่นนี้
 
ขอขอบคุณ นายแพทย์ อดุลย์ เร็งมา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ผู้ให้ข้อมูลสัมภาษณ์ในครั้งนี้
และขอบคุณรูปภาพจากเพจ โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา YINGO HOSPITAL ด้วยค่ะ